วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2552

สาระสำคัญ

1. การจัดแสดงเป็นกิจกรรมในการนำเอาวัสดุ เครื่องมือต่าง ๆ มาจัดเพื่อเสนอความรู้ ความคิด ความบันเทิงควบคู่กันไป การจัดจะมีลักษณะต่าง ๆ ตามความเหมาะสมของวัสดุ และวัตถุประสงค์
2. การใช้สื่อแผ่นป้าย เป็นลักษณะหนึ่งของการจัดการแสดง ซึ่งมีวิธีการใช้ต่างกันไปตามวัตถุประสงค์
3. สื่อแผ่นป้ายแต่ละประเภท จะมีลักษณะและข้อแนะนำในการใช้ต่าง ๆ กัน เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. การประดิษฐ์ตัวอักษรมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการคือ บทบาท รูปแบบ ขนาด และวิธีการจัดทำตัวอักษร แต่ละองค์ประกอบ จะเป็นเครื่องช่วยให้สามารถประดิษฐ์ตัวอักษรได้เหมาะสม กับเครื่องมือและงานที่นำไปใช้
5. การใช้สีในการผลิตสื่อ ช่วยทำให้สื่อมีความน่าสนใจ และยังทำให้ผู้เรียน เกิดการเรียนรู้ และเกิดความคิดรวบยอด ในเนื้อหาได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว

จุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรม

1. อธิบายความหมาย และลักษณะการจัดแสดงแบบต่าง ๆ ได้
2. ยกตัวอย่างการใช้สื่อแผ่นป้ายตามวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ได้ถูกต้อง
3. อธิบายและยกตัวอย่างเปรียบเทียบสื่อแผ่นป้ายแต่ละประเภท พร้อมทั้งบอก ข้อแนะนำในการใช้อย่างถูกต้อง
4. บอกความสำคัญและหลักการของการประดิษฐ์ตัวอักษรได้ถูกต้อง
5. ประดิษฐ์ตัวอักษรเพื่อใช้ในการสร้างสื่อการเรียนการสอน โดยใช้ปากกาสปีดบอล หรือปากกาปลายสักหลาด ตามเนื้อหาที่กำหนดได้
6. จำแนกสีตามทฤษฎีสี และประเภทของสีเพื่อใช้ในการผลิตสื่อการสอนได้ถูกต้อง

ความหมายและลักษณะการจัดแสดง

การจัดแสดง (Displays) คือ การนำเอาวัสดุการเรียนการสอนมาตั้งหรือแขวน โดยอาจมีกิจกรรมประกอบกับวัสดุ เพื่อให้ผู้สนใจได้ศึกษาหาความรู้ ส่วนใหญ่จะเป็นการนำเอาทัศนวัสดุมาใช้ในการจัดแสดงบนแผ่นป้ายแบบต่าง ๆ ซึ่งผู้จัดจะต้องออกแบบเพื่อเสนอข้อมูลหรือความคิดในเรื่องราวที่จัดให้ผู้ดูเกิดความสนใจ ได้รับความรู้ และความบันเทิงควบคู่กันไป วัสดุที่นำมาใช้เรียกว่า วัสดุตั้งแสดง (display materials)ลักษณะการจัดแสดง
5.1.1 การติดตั้งบนแผ่นป้าย ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของแผ่นป้าย วัสดุที่นำมาใช้ในการแสดง ก็ควรเป็นวัสดุเฉพาะแผ่นป้ายนั้น
5.1.2 การห้อยหรือแขวน เหมาะกับวัสดุประเภทสวยงามและมีน้ำหนักเบา โดยมีจุดประสงค์ให้ผู้ดูเห็นทุกด้าน หรือต้องการเป็นจุดเน้น
5.1.3 การวางบนโต๊ะแสดง เหมาะสมกับวัสดุอุปกรณ์ที่มีขนาดใหญ่ และมีน้ำหนักหรือเป็นประเภทที่ต้องการสาธิตการทำงาน เช่น อุปกรณ์วงจรไฟฟ้า เป็นต้น

วัตถุประสงค์ในการใช้สื่อแผ่นป้าย

การใช้สื่อแผ่นป้ายนั้น สามารถใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังนี้
5.2.1 เพื่อประกอบการสอนโดยตรง
5.2.2 เพื่อสรุปบทเรียนหรือแสดงผลงานของผู้เรียน
5.2.3 เพื่อจัดทำกิจกรรมการเรียนการสอน
5.2.4 เพื่อประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูล

ประเภทของสื่อแผ่นป้ายและข้อแนะนำในการใช้

การใช้แผ่นป้ายเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ดังกล่าว จึงมีการนำแผ่นป้ายประเภทต่าง ๆ มาใช้ ซึ่งมีลักษณะและข้อแนะนำในการใช้ให้เหมาะสมในแต่ละประเภท ดังนี้

5.3.1 กระดานชอล์ค (Chalk Board) เป็นกระดานแผ่นเรียบ ไม่มีรอยต่อ พื้นผิวทาด้วยสีทากระดาน ซึ่งเป็นสีเขียว โดยทั่วไปนิยมใช้เขียนหรือวาดภาพด้วยชอล์คสีขาว และติดตั้งไว้ที่หน้าชั้นเรียนทุกระดับชั้น ข้อแนะนำในการใช้กระดานชอล์ค
1) การใช้กระดานชอล์คควรเตรียมการสอนล่วงหน้า และมีการวางแผนการใช้ประกอบการสอน
2) ข้อความที่เขียนความเป็นข้อความสั้น ๆ
3) ลบข้อความหรือภาพที่ไม่ต้องการใช้แล้วทุกครั้ง
4) ควรใช้ภาพประกอบการสอน โดยสร้างภาพลายเส้นหรือภาพการ์ตูนง่าย ๆ
5) อาจใช้เครื่องมือช่วยในการสร้างภาพบนกระดานชอล์ค เช่น เทมเพลทหรือ แบบวาด
6) การใช้กระดานชอล์คในบางครั้ง ควรมีเทคนิค เช่น การวาดภาพล่วงหน้า และปิดไว้ก่อนที่จะใช้ภาพนั้นจริง ๆ เพื่อเร้าความสนใจ
7) ขณะอธิบายครูไม่ควรบังกระดาน ควรอยู่ด้านใดด้านหนึ่งและหันมาพูดกับผู้เรียน
8) ควรใช้ไม้ชี้ข้อความที่อธิบาย
9) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการใช้ตามความเหมาะสม
10) พยายามใช้สื่ออื่น ๆ ร่วมกับการใช้กระดานชอล์ค

5.3.2 ป้ายนิเทศ (Bulletin Board) เป็นป้ายที่ใช้แสดงเรื่องราวโดยใช้รูปภาพ แผนภูมิ แผนสถิติ และข้อความต่าง ๆ เพื่อช่วยในการเรียนรู้ และช่วยในการจัดกิจกรรมในการเรียนการสอนของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี โดยทั่วไปมักมีขนาด 2x3 ฟุต หรือ 2x4 ฟุต ข้อแนะนำในการใช้และจัดป้ายนิเทศ
1) ป้ายนิเทศ 1 ป้าย ควรแสดงเรื่องหรือความคิดเพียงเรื่องเดียว
2) ต้องมีชื่อเรื่อง โดยมีเทคนิคการตั้งชื่อเรื่องให้น่าสนใจ และประดิษฐ์โดยใช้ตัวอักษร หรือวัสดุต่าง ๆ มาประกอบ หรือกระตุ้นและเร้าความอยากรู้ของผู้ดู
3) ควรวางแผนการจัดก่อนลงมือจัดจริง โดยคำนึงถึงหลักการออกแบบที่ดี การใช้ภาพที่เหมาะสมและสอดคล้องกับเนื้อหา ตลอดจนใช้วัสดุอื่น ๆ มาใช้ประกอบ
4) ใช้สีหรือทำให้น่าสนใจ ทั้งในส่วนที่เป็นเนื้อหาหรือการจัดทำพื้นป้าย
5) ใช้เส้นหรือทิศทางการจัดวาง เพื่อเป็นเครื่องช่วยนำสายตาของผู้ดูให้เกิดการรับรู้ที่ต่อเนื่องกัน
6) ควรมีข้อความหรือคำอธิบายสั้น ๆ ประกอบ เพื่อให้ผู้ดูสามารถเรียนรู้สาระจากป้าย การใช้ตัวอักษรในส่วนนี้ ควรมีลักษณะที่อ่านง่าย ชัดเจน
7) ควรมีการประเมินผล เพื่อให้ผู้เรียนรู้คุณค่าของการจัดป้าย

5.3.3 ป้ายผ้าสำลี (Felt Board) เป็นสื่อประเภทแผ่นป้ายที่ทำได้ง่าย ใช้ง่าย และราคาถูก มีลักษณะเป็นแผ่นป้ายแข็ง หุ้มด้วยผ้าสำลี ใช้เป็นป้ายสำหรับติดชิ้นส่วนที่เป็นภาพตัดขอบ หรือบัตรคำที่มีกระดาษทรายติดอยู่ เพราะผ้าสำลีมีขนซึ่งจะช่วยให้กระดาษทรายเกาะติดอยู่ได้ ใช้ประกอบการสอน การอธิบาย การเล่าเรื่อง การเล่านิทาน และการสาธิต โดยเฉพาะการสอนกลุ่มเล็ก ๆ ในระดับประถมศึกษาตอนต้นได้ดีข้อแนะนำในการใช้แผ่นป้ายสำลี
1) เตรียมชิ้นส่วนที่จะใช้แสดงให้เป็นระเบียบ อย่าให้เรื่องราวสับสน
2) ติดตั้งหรือแขวนในระดับสายตา อาจจะแขวนหรือทำขาตั้งไว้บนโต๊ะก็ได้
3) ภาพหรือบัตรคำ ควรมีสีสันสะดุดตา และใช้สีที่ตัดกันกับพื้นป้าย
4) ติดภาพ หรือบัตรคำทีละชิ้นหรือครั้งละน้อย ๆ ชิ้น
5) อย่าติดจนแน่น ชิ้นใดที่ไม่ใช้แล้วให้เอาออก
6) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนร่วมกิจกรรม

5.3.4 ป้ายแม่เหล็ก (Magnetic Board) เป็นสื่อที่มีลักษณะคล้ายแผ่นป้ายผ้าสำลี แต่ใช้ วัสดุในการทำพื้นป้ายต่างกัน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสะดวกในการใช้ โดยใช้แผ่นเหล็กหรือวัสดุที่มีเหล็กเจือจางหรือแผ่นสังกะสี วัสดุที่นำมาติดแผ่นป้าย อาจเป็นวัสดุ 3 มิติ บัตรคำ หรือรูปภาพ ที่มีเม็ดแม่เหล็กเล็ก ๆ หรือแถบแม่เหล็กติดอยู่ ทำให้ติดกับแผ่นป้ายในขณะใช้งานได้ ข้อแนะนำในการใช้แผ่นป้ายแม่เหล็ก
1) คุณสมบัติในการใช้และวิธีการใช้เหมือนการใช้ป้ายผ้าสำลี แต่ติดภาพได้คงทนกว่า
2) สามารถนำมาใช้เขียนเหมือนกระดานชอล์คได้ ถ้าใช้สีสำหรับทากระดานชอล์คทาที่ แผ่นป้ายที่ใช้สังกะสีเป็นพื้นป้าย
3) อาจปรับวัสดุท้องถิ่นมาใช้แทน เช่น ป้ายโฆษณาเครื่องดื่มที่เป็นสังกะสี นำมาทาสีบนแผ่นสังกะสีก็สามารถนำมาใช้ได้

5.3.5 ป้ายไฟฟ้า (Electronic Board) เป็นแผ่นป้ายที่มีทั้งคำถาม คำตอบอยู่บนแผ่นป้าย ให้ผู้เรียนเรียนด้วยตนเอง โดยการจับคู่หรือเลือกตอบ คำถาม-คำตอบที่ถูกต้อง จะมีวงจรไฟฟ้าเชื่อมต่อกัน เมื่อจับคู่ได้ถูกต้อง จะมีสัญญาณปรากฏ เช่น แสงไฟสว่าง หรือเสียงดัง ข้อแนะนำในการใช้แผ่นป้ายไฟฟ้า
1) ควรเปลี่ยนคำถาม-คำตอบ และปรับวงจรไฟฟ้าระหว่างคู่คำถาม-คำตอบ หลังการใช้ระยะหนึ่งเพราะจะทำให้ผู้เรียนจำวงจรมากกว่ารู้จริง
2) ใช้เป็นสื่อเพื่อให้ผู้เรียนได้ประเมินความรู้ด้วยตนเองได้ดีวิธีหนึ่ง
3) สามารถนำมาใช้ประกอบการจัดนิทรรศการโดยปรับจากคำถาม-คำตอบ เป็น การแสดงเนื้อหาโดยวิธีอื่น ๆ ได้

5.3.6 กระเป๋าผนัง (Slot Board) เป็นแผ่นป้ายมีช่องหรือหลืบสำหรับใส่บัตรคำ บัตรภาพ เพื่อใช้ถ่ายทอดเนื้อหาที่มีการใช้รูปแบบของคำ ประโยค ไวยากรณ์ได้เป็นอย่างดี การผลิตกระเป๋าผนัง อาจทำได้โดยวิธีการดังต่อไปนี้
1) ทำด้านหลังของแผ่นป้ายผ้าสำลี ซึ่งจะทำให้ประหยัดวัสดุที่เป็นแผ่นรอง โดยนำกระดาษสีน้ำตาล มาพับเป็นหลีบ มีระยะความลึกพอที่จะเสียบบัตรคำได้
2) พับกระดาษเป็นหลืบ เหมือนข้อ 1 ติดกระดาษที่พับแล้วบนกระดาษแข็งรองพื้น และปิดขอบรอบ ๆ ให้เรียบร้อย และเจาะตาไก่ร้อยเชือก ทำที่แขวนสำหรับใช้ได้สะดวกยิ่งขึ้น
3) ตัดกระดาษแข็งเป็นแถบ ๆ และใช้แผ่นพลาสติกมาเย็บติด ให้แผ่นพลาสติกมีความ กว้างน้อยกว่าแผ่นกระดาษแข็ง นำแถบกระดาษแข็งที่ติดพลาสติกเรียบร้อยแล้ว มาวางเรียงกันแล้วใช้เทปกาวย่น หรือกระดาษกาวปิดรอยต่อระหว่างแผ่นต่อแผ่นทำที่แขวน ก็จะได้กระเป๋าผนังแบบพับได้
4) วิธีใช้สำหรับแบบที่ 3 ใช้บัตรคำขนาดความสูงไม่เกิน 2" เสียบลงในช่องพลาสติก ใส จะทำให้มองเห็นบัตรคำได้ชัดเจน

หลักในการประดิษฐ์ตัวอักษร

ในการผลิตสื่อเพื่อนำมาใช้ในการเรียนการสอน ทั้งที่เป็นวัสดุกราฟิค และวัสดุตั้งแสดง ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่อการสอนโดยตรง หรือการจัดกิจกรรมอื่น ๆ จะพบว่า การนำตัวอักษรมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อความหมาย เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้การผลิตสื่อการสอนไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด การประดิษฐ์ตัวอักษรให้ได้ผลดี ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบดังต่อไปนี้

5.4.1 บทบาทของตัวอักษร คือ การนำตัวอักษรไปใช้ประกอบกัน การจัดทำวัสดุประเภทต่าง ๆ โดยทั่วไปมีบทบาทต่าง ๆ กันดังนี้
1) อักษรบอกชื่อเรื่อง
2) อักษรบอกชื่อเรื่องรองหรือบอกตอน
3) อักษรบรรยายภาพ
4) อักษรอธิบายภาพ
5) อักษรที่ใช้สรุป หรือย่อเรื่อง
6) อักษรบอกรายละเอียดอื่น ๆ

5.4.2 รูปแบบตัวอักษร การเลือกรูปแบบตัวอักษรให้ความรู้สึกต่อผู้ดูต่าง ๆ กัน จึง ควรพิจารณาเลือกรูปแบบที่เหมาะสม ได้ดังนี้
1) ตัวอักษรหัวกลม : เหมาะกับงานที่เป็นทางการ
2) ตัวอักษรหัวตัด : มีลักษณะเป็นกึ่งทางการ อ่านง่าย ใช้กับป้ายนิเทศ
3) ตัวอักษรแบบไม่มีหัว : เหมาะกับงานออกแบบต่าง ๆ ปกหนังสือ
4) ตัวอักษรแบบคัดลายมือ : ใช้กับงานพิธีต่าง ๆ ของไทย ประกาศนียบัตร
5) ตัวอักษรประดิษฐ์ : ใช้กับหัวเรื่อง งานโฆษณา งานเฉพาะทาง เพื่อเน้น ความหมายของสิ่งนั้น ๆ ตัวอย่างรูปแบบตัวอักษรแบบต่าง ๆ

5.4.3 ขนาดของตัวอักษร การใช้ขนาดตัวอักษรเพื่อความเหมาะสม ให้พิจารณา
1) ขนาดของพื้นที่กับจำนวนคำหรือข้อความที่ใช้ ว่ามีช่องไฟและสัดส่วนที่ เหมาะสมหรือไม่
2) ระยะห่างจากผู้ดูกับขนาดของตัวอักษรควรสัมพันธ์กัน โดย ระยะห่าง 32 ฟุต : ตัวอักษรไม่ต่ำกว่า 1 นิ้ว 3) ถ้าเป็นตัวอักษรกับงานถ่ายทำ ควรมีขนาดเป็นอัตราสี่ส่วนกับระยะทาง ดังนี้ สไลด์ ตัวอักษร 1 นิ้ว (บนจอ) : ระยะห่าง 20 ฟุต แผ่นใส ขนาด 1/4 นิ้ว บนแผ่นใส
4) บทบาทของตัวอักษรกับจุดประสงค์ของการนำไปใช้

5.4.4 วิธีการจัดทำตัวอักษร เป็นเทคนิคการผลิตตัวอักษร โดยการนำอุปกรณ์มาช่วย ในการประดิษฐ์ เพื่อให้ได้รูปแบบตามต้องการ วิธีการแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์และเครื่องมือ วัตถุประสงค์ของงาน บุคลากร งบประมาร วิธีการจัดทำมี 3 วิธีคือ
1) ตัวอักษรที่เขียนด้วยมือ ใช้อุปกรณ์ประเภทปากกาแบบต่าง ๆ พู่กัน
2) ตัวอักษรที่เขียนด้วยเครื่องมือ ใช้เครื่องมือเขียนแบบ เครื่องช่วยเขียนตัว อักษรประเภทต่าง ๆ เช่น ลีรอย ไรโก้ แวริกราฟ แบบเขียนตัวอักษร
3) ตัวอักษรสำเร็จรูป เช่น ตัวอักษรลอก อักษรตรายาง อักษรตัดด้วยวัสดุ เป็นต้น

สีกับการผลิตสื่อการสอน

การผลิตสื่อการสอนไม่ว่าจะเป็นประเภทใด การใช้สีจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่ถูกต้อง และยังช่วยให้เกิดความน่าสนใจอีกด้วย การใช้สีกับสื่อให้พิจารณาจากองค์ประกอบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

5.1.1 หลักทฤษฎีสี หลักเกณฑ์หรือทฤษฎีต่าง ๆ มาใช้ในการออกแบบ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ

สีข่างเขียน สีวัตถุหรือสีเบื้องต้น ได้แก่ สีต่าง ๆ ที่เป็นวัตถุธาตุนำมาผสมน้ำ กาว น้ำมัน หรือน้ำยาเคมีต่าง ๆ ตามกรรมวิธีแต่ละชนิด เพื่อนำมาใช้ในการเขียนภาพ การตกแต่ง ตลอดจนงานศิลปหัตถกรรมทั่ว ๆ ไป มีสีหลักอยู่ 3 สี เรียกว่า แม่สีช่างเขียน ได้แก่ สีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงิน

สีวิทยาศาสตร์ เป็นสีที่เกิดจากแสงไฟฟ้า หรือแสงพิเศษ ผสมด้วยการทดแสงประสานกัน หรือโดยวิธีการสะท้อนของแสง ใช้ประโยชน์ในด้านการละคร ภาพยนตร์ และตกแต่งสถานที่ บ้านเรือน ห้องแสดงสินค้า มีสีหลัก 3 สี เรียกว่า แม่สีวิทยาศาสตร์ ได้แก่ สีแดง สีเขียว และสีม่วง ถ้านำแม่สีทั้ง 3 ผสมกัน โดยการทดแสงเข้าประสานกัน สีที่เกิดขึ้นใหม่จะได้เป็นสีขาว

สีจิตวิทยา สีจิตวิทยาเป็นสีที่เกี่ยวกับความรู้สึก โดยเป็นผลในการสัมผัสทางจักษุ เป็นสื่อ เมื่อได้พบเห็นสีก็จะเกิดความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป ประโยชน์การใช้งานด้านการตกแต่งภายใน ห้องประชุม ห้องรับแขก ห้องนอน สีจิตวิทยาประกอบด้วยสีหลัก 4 สี เรียกว่า แม่สีจิตวิทยา คือ สีแดง สีเหลือง สีน้ำเงิน และสีเขียว

5.5.2 ความหมายของสี สีแต่ละสีสามารถสร้างอารมณ์ ความรู้สึกหรือสีสันของเนื้อหาได้เป็นอย่างดี ซึ่งถ้าพิจารณาความหมายของสีแต่ละสีตามลักษณะของสีก็พอจะแยกออกได้ดังนี้
สีแดง = ความรัก ความเกลียด โกรธ อันตราย ความกล้าหาญ ความแข็งแรง
สีเหลือง = ความอบอุ่น ความสงบ ความเจริญเต็มที่ (สุก) ความร่าเริง เบิกบานใจ
สีน้ำเงิน = เยือกเย็น ความสงบ ความจริง
สีดำ = ประณีต รวย เป็นงานเป็นการ เงียบเหงา ความตาย
สีเขียว = หนุ่ม อ่อนวัย สดชื่น ความเจริญเติบโต ความซื่อสัตย์
สีขาว = สะอาด ประณีต ความบริสุทธิ์ สีส้ม = พลังงาน ร่าเริง สดใส สนุกสนาน ความมั่งคั่ง
สีม่วง = สูงศักดิ์ ร่ำรวย หรูหรา ความเคร่งขรึม

5.5.3 การผสมผสานสี (color combinations) การผลิตภาพโฆษณา ป้าย หรือวัสดุกราฟิค ป้ายประกาศ การใช้สีที่มีความสัมพันธ์กันหลายสีจะทำให้น่าสนใจขึ้น วิธีการใช้สื่ออย่างผสมผสานกัน มีข้อเสนอแนะในการนำไปใช้ดังนี้
1) สีอ่อนกับสีแก่ จะมีความตัดกันดีมาก
2) ตัวหนังสือสีขาวบนพื้นหลังสีเข้ม จะมองเห็นได้ชัด แม้การนำเสนอจะอยู่ใน ระยะไกล ๆ
3) สีแก่หรือสีมืด ไม่ควรใช้กับสีที่มีความหนักมืดเหมือนกัน
4) อย่าใช้สีมากกว่า 2 หรือ 3 สี และจะต้องมีสีเด่นอยู่ 1 สี เท่านั้น การใช้ สีหลาย ๆ สีในเวลาเดียวกัน ให้ยึดหลักที่ว่า ใช้สีสว่างพื้นที่เล็ก ๆ และใช้สีเข้มกับพื้นที่ขนาดใหญ่

5.5.4 แนวทางการใช้สีกับการผลิตสื่อการสอน ควรใช้แนวทางต่อไปนี้เป็นข้อควรคำนึง
1) การผลิตสื่อการสอน ไม่จำเป็นต้องใช้สีมากสี ควรพิจารณาว่านอกจากเพื่อ ความสวยงามแล้ว จะใช้สีเพื่อให้คล้ายธรรมชาติ เพื่อเน้นความแตกต่าง ฯลฯ ก็ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมไม่ควรใช้สีจนดูเลอะเทอะ สับสน
2) สีย่อมมีความหมายอยู่ในตัว และมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของมนุษย์ เช่น สี แดง หมายถึง พลัง อันตราย สีเขียว หมายถึง สดชื่น สีขาว หมายถึง บริสุทธิ์ เป็นต้น การเลือกใช้สีจึงต้องให้เหมาะสมกับเรื่องราวของภาพ สัญลักษณ์ และอักษรในสื่อนั้นด้วย
3) จากการทดลองนำภาพสีให้เด็กเลือก เด็กจะชอบภาพหลาย ๆ สีมากกว่า สีเดียว สื่อสำหรับเด็กจึงควรใช้สีที่สดใส และมีหลายสี
4) ไม่ควรใช้สีสะท้อนแสงในการทำวัสดุกราฟิคเพื่อการสอน เพราะจำเป็น ทำลายสายตาของผู้เรียน สีสะท้อนแสงเหมาะที่จะใช้กับงานตกแต่งเวทีที่ใช้ในเวลากลางคืนมากกว่าในชั้นเรียน
5) ตัวอักษรที่เป็นข้อความเดียวกัน หรือสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน ควรใช้สีเดียวกัน การใช้สีที่แตกต่างกันก็ต่อเมื่อเป็นข้อความอื่น หรือข้อความที่ต้องการเน้นให้สนใจเป็นพิเศษ
6) ในการเขียนตัวอักษรและภาพประกอบควรเลือกสีที่เข้มสดใส เช่น สีแดง เข้ม สีน้ำเงิน สีเขียว ฯลฯ เพื่อให้มองเห็นอย่างชัดเจนและเด่นจากพื้นหลัง ไม่ควรใช้สีอ่อน เช่น สีเหลือง สีเขียวอ่อน เป็นต้น
7) เลือกใช้ประเภทของสีให้เหมาะสมกับประเภทของงาน เช่น สีเมจิก สีน้ำ ให้ สีสันสวยงาม แต่สีจางง่าย ไม่เหมาะกับงานที่ตั้งแสดงเป็นเวลานาน เช่น ภาพโฆษณา ควรใช้สีโปสเตอร์ เป็นต้น