วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2552

ประเภทของสื่อแผ่นป้ายและข้อแนะนำในการใช้

การใช้แผ่นป้ายเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ดังกล่าว จึงมีการนำแผ่นป้ายประเภทต่าง ๆ มาใช้ ซึ่งมีลักษณะและข้อแนะนำในการใช้ให้เหมาะสมในแต่ละประเภท ดังนี้

5.3.1 กระดานชอล์ค (Chalk Board) เป็นกระดานแผ่นเรียบ ไม่มีรอยต่อ พื้นผิวทาด้วยสีทากระดาน ซึ่งเป็นสีเขียว โดยทั่วไปนิยมใช้เขียนหรือวาดภาพด้วยชอล์คสีขาว และติดตั้งไว้ที่หน้าชั้นเรียนทุกระดับชั้น ข้อแนะนำในการใช้กระดานชอล์ค
1) การใช้กระดานชอล์คควรเตรียมการสอนล่วงหน้า และมีการวางแผนการใช้ประกอบการสอน
2) ข้อความที่เขียนความเป็นข้อความสั้น ๆ
3) ลบข้อความหรือภาพที่ไม่ต้องการใช้แล้วทุกครั้ง
4) ควรใช้ภาพประกอบการสอน โดยสร้างภาพลายเส้นหรือภาพการ์ตูนง่าย ๆ
5) อาจใช้เครื่องมือช่วยในการสร้างภาพบนกระดานชอล์ค เช่น เทมเพลทหรือ แบบวาด
6) การใช้กระดานชอล์คในบางครั้ง ควรมีเทคนิค เช่น การวาดภาพล่วงหน้า และปิดไว้ก่อนที่จะใช้ภาพนั้นจริง ๆ เพื่อเร้าความสนใจ
7) ขณะอธิบายครูไม่ควรบังกระดาน ควรอยู่ด้านใดด้านหนึ่งและหันมาพูดกับผู้เรียน
8) ควรใช้ไม้ชี้ข้อความที่อธิบาย
9) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการใช้ตามความเหมาะสม
10) พยายามใช้สื่ออื่น ๆ ร่วมกับการใช้กระดานชอล์ค

5.3.2 ป้ายนิเทศ (Bulletin Board) เป็นป้ายที่ใช้แสดงเรื่องราวโดยใช้รูปภาพ แผนภูมิ แผนสถิติ และข้อความต่าง ๆ เพื่อช่วยในการเรียนรู้ และช่วยในการจัดกิจกรรมในการเรียนการสอนของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี โดยทั่วไปมักมีขนาด 2x3 ฟุต หรือ 2x4 ฟุต ข้อแนะนำในการใช้และจัดป้ายนิเทศ
1) ป้ายนิเทศ 1 ป้าย ควรแสดงเรื่องหรือความคิดเพียงเรื่องเดียว
2) ต้องมีชื่อเรื่อง โดยมีเทคนิคการตั้งชื่อเรื่องให้น่าสนใจ และประดิษฐ์โดยใช้ตัวอักษร หรือวัสดุต่าง ๆ มาประกอบ หรือกระตุ้นและเร้าความอยากรู้ของผู้ดู
3) ควรวางแผนการจัดก่อนลงมือจัดจริง โดยคำนึงถึงหลักการออกแบบที่ดี การใช้ภาพที่เหมาะสมและสอดคล้องกับเนื้อหา ตลอดจนใช้วัสดุอื่น ๆ มาใช้ประกอบ
4) ใช้สีหรือทำให้น่าสนใจ ทั้งในส่วนที่เป็นเนื้อหาหรือการจัดทำพื้นป้าย
5) ใช้เส้นหรือทิศทางการจัดวาง เพื่อเป็นเครื่องช่วยนำสายตาของผู้ดูให้เกิดการรับรู้ที่ต่อเนื่องกัน
6) ควรมีข้อความหรือคำอธิบายสั้น ๆ ประกอบ เพื่อให้ผู้ดูสามารถเรียนรู้สาระจากป้าย การใช้ตัวอักษรในส่วนนี้ ควรมีลักษณะที่อ่านง่าย ชัดเจน
7) ควรมีการประเมินผล เพื่อให้ผู้เรียนรู้คุณค่าของการจัดป้าย

5.3.3 ป้ายผ้าสำลี (Felt Board) เป็นสื่อประเภทแผ่นป้ายที่ทำได้ง่าย ใช้ง่าย และราคาถูก มีลักษณะเป็นแผ่นป้ายแข็ง หุ้มด้วยผ้าสำลี ใช้เป็นป้ายสำหรับติดชิ้นส่วนที่เป็นภาพตัดขอบ หรือบัตรคำที่มีกระดาษทรายติดอยู่ เพราะผ้าสำลีมีขนซึ่งจะช่วยให้กระดาษทรายเกาะติดอยู่ได้ ใช้ประกอบการสอน การอธิบาย การเล่าเรื่อง การเล่านิทาน และการสาธิต โดยเฉพาะการสอนกลุ่มเล็ก ๆ ในระดับประถมศึกษาตอนต้นได้ดีข้อแนะนำในการใช้แผ่นป้ายสำลี
1) เตรียมชิ้นส่วนที่จะใช้แสดงให้เป็นระเบียบ อย่าให้เรื่องราวสับสน
2) ติดตั้งหรือแขวนในระดับสายตา อาจจะแขวนหรือทำขาตั้งไว้บนโต๊ะก็ได้
3) ภาพหรือบัตรคำ ควรมีสีสันสะดุดตา และใช้สีที่ตัดกันกับพื้นป้าย
4) ติดภาพ หรือบัตรคำทีละชิ้นหรือครั้งละน้อย ๆ ชิ้น
5) อย่าติดจนแน่น ชิ้นใดที่ไม่ใช้แล้วให้เอาออก
6) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนร่วมกิจกรรม

5.3.4 ป้ายแม่เหล็ก (Magnetic Board) เป็นสื่อที่มีลักษณะคล้ายแผ่นป้ายผ้าสำลี แต่ใช้ วัสดุในการทำพื้นป้ายต่างกัน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสะดวกในการใช้ โดยใช้แผ่นเหล็กหรือวัสดุที่มีเหล็กเจือจางหรือแผ่นสังกะสี วัสดุที่นำมาติดแผ่นป้าย อาจเป็นวัสดุ 3 มิติ บัตรคำ หรือรูปภาพ ที่มีเม็ดแม่เหล็กเล็ก ๆ หรือแถบแม่เหล็กติดอยู่ ทำให้ติดกับแผ่นป้ายในขณะใช้งานได้ ข้อแนะนำในการใช้แผ่นป้ายแม่เหล็ก
1) คุณสมบัติในการใช้และวิธีการใช้เหมือนการใช้ป้ายผ้าสำลี แต่ติดภาพได้คงทนกว่า
2) สามารถนำมาใช้เขียนเหมือนกระดานชอล์คได้ ถ้าใช้สีสำหรับทากระดานชอล์คทาที่ แผ่นป้ายที่ใช้สังกะสีเป็นพื้นป้าย
3) อาจปรับวัสดุท้องถิ่นมาใช้แทน เช่น ป้ายโฆษณาเครื่องดื่มที่เป็นสังกะสี นำมาทาสีบนแผ่นสังกะสีก็สามารถนำมาใช้ได้

5.3.5 ป้ายไฟฟ้า (Electronic Board) เป็นแผ่นป้ายที่มีทั้งคำถาม คำตอบอยู่บนแผ่นป้าย ให้ผู้เรียนเรียนด้วยตนเอง โดยการจับคู่หรือเลือกตอบ คำถาม-คำตอบที่ถูกต้อง จะมีวงจรไฟฟ้าเชื่อมต่อกัน เมื่อจับคู่ได้ถูกต้อง จะมีสัญญาณปรากฏ เช่น แสงไฟสว่าง หรือเสียงดัง ข้อแนะนำในการใช้แผ่นป้ายไฟฟ้า
1) ควรเปลี่ยนคำถาม-คำตอบ และปรับวงจรไฟฟ้าระหว่างคู่คำถาม-คำตอบ หลังการใช้ระยะหนึ่งเพราะจะทำให้ผู้เรียนจำวงจรมากกว่ารู้จริง
2) ใช้เป็นสื่อเพื่อให้ผู้เรียนได้ประเมินความรู้ด้วยตนเองได้ดีวิธีหนึ่ง
3) สามารถนำมาใช้ประกอบการจัดนิทรรศการโดยปรับจากคำถาม-คำตอบ เป็น การแสดงเนื้อหาโดยวิธีอื่น ๆ ได้

5.3.6 กระเป๋าผนัง (Slot Board) เป็นแผ่นป้ายมีช่องหรือหลืบสำหรับใส่บัตรคำ บัตรภาพ เพื่อใช้ถ่ายทอดเนื้อหาที่มีการใช้รูปแบบของคำ ประโยค ไวยากรณ์ได้เป็นอย่างดี การผลิตกระเป๋าผนัง อาจทำได้โดยวิธีการดังต่อไปนี้
1) ทำด้านหลังของแผ่นป้ายผ้าสำลี ซึ่งจะทำให้ประหยัดวัสดุที่เป็นแผ่นรอง โดยนำกระดาษสีน้ำตาล มาพับเป็นหลีบ มีระยะความลึกพอที่จะเสียบบัตรคำได้
2) พับกระดาษเป็นหลืบ เหมือนข้อ 1 ติดกระดาษที่พับแล้วบนกระดาษแข็งรองพื้น และปิดขอบรอบ ๆ ให้เรียบร้อย และเจาะตาไก่ร้อยเชือก ทำที่แขวนสำหรับใช้ได้สะดวกยิ่งขึ้น
3) ตัดกระดาษแข็งเป็นแถบ ๆ และใช้แผ่นพลาสติกมาเย็บติด ให้แผ่นพลาสติกมีความ กว้างน้อยกว่าแผ่นกระดาษแข็ง นำแถบกระดาษแข็งที่ติดพลาสติกเรียบร้อยแล้ว มาวางเรียงกันแล้วใช้เทปกาวย่น หรือกระดาษกาวปิดรอยต่อระหว่างแผ่นต่อแผ่นทำที่แขวน ก็จะได้กระเป๋าผนังแบบพับได้
4) วิธีใช้สำหรับแบบที่ 3 ใช้บัตรคำขนาดความสูงไม่เกิน 2" เสียบลงในช่องพลาสติก ใส จะทำให้มองเห็นบัตรคำได้ชัดเจน

ไม่มีความคิดเห็น: